เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ว่าที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. โดยที่ประชุมได้มีการนำข้อดีและข้อเสียของการเลื่อนเปิดเทอมจาก 16 พฤษภาคมเป็น 10 มิถุนายนและการเปิดเทอมเป็นวันที่ 16 พฤษภาคมเหมือนเดิม รวมถึงนำผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษา อาทิ นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 15,696 คน เกี่ยวกับการเลื่อนเปิดเทอม ที่ระบุว่า 54.54 % เห็นด้วยกับการเปิดเทอมวันที่ 16 พฤษภาคมมาพิจารณาด้วย ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันว่าการเปิดเทอมวันที่ 16 พฤษภาคมจะมีข้อดีมากกว่าการเลื่อนไปเปิดเทอมวันที่ 10 มิถุนายนเพราะเมื่อคำนึงถึงการเรียนการสอนของนักเรียนส่วนใหญ่ตั้งแต่ชั้นป.1-ม.5 จะพบว่า มีความสอดคล้องในแง่ของภูมิอากาศ และประเพณีไทย ซึ่งหากต้องเลื่อนเปิดเทอมจะทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)จะเปิดเทอมในวันที่ 16 พฤษภาคมเหมือนเดิม

รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อไปว่าการให้เปิดภาคเรียนเหมือนเดิมไม่ต้องแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และจะไม่กระทบต่อการขอรับเงินอุดหนุนรายหัว เพราะใช้ฐานข้อมูลนักเรียนวันที่ 10 มิถุนายน ขณะเดียวกันทางสอศ. ยังเห็นว่าเด็กอาชีวะมีความเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยน้อย และการเปิดเทอมวันที่ 16 พฤษภาคมจะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่กำลังหาแรงงานมากกว่าด้วย ส่วนเด็ก ม.6 แม้ว่าการเปิดเทอมช่วงเวลาเดิมจะมีผลให้เด็กมีช่วงเวลาว่างค่อนข้างมากประมาณ 4 เดือนครึ่งก่อนที่มหาวิทยาลัยจะเปิดเทอมในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่จะเป็นโอกาสดี เพราะในบางประเทศจะใช้ช่วงเวลานี้สำหรับเรียนภาษาเพิ่มเติม หรือเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้ามหาวิทยาลัย แต่สำหรับประเทศไทยเป็นโอกาสดีที่จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งตนได้ขอความร่วมมือให้มหาวิทยาลัยเลื่อนการสอบรับตรงของมหาวิทยาลัยมาอยู่ในช่วงที่นักเรียนได้เรียนจบการศึกษาแล้ว เพื่อให้เด็กได้มีเวลาเตรียมตัว อย่างไรก็ตามในส่วนของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ก็เห็นด้วยว่าการจัดสอบต่างๆของสทศ.ควรจัดสอบหลังนักเรียนจบการศึกษาเช่นกัน ซึ่ง สทศ.ก็ยินดีที่จะพิจารณาขยับช่วงเวลาในการสอบให้สอดคล้องกับช่วงเวลาปิดภาคเรียนที่ 2 ที่จะมีช่วงเวลาที่นักเรียนหยุดเรียนนานขึ้นด้วย
"ความจริงแล้วการเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ได้มีการเปิดปิดพร้อมกัน ซึ่งการเปิดปิดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.เปิดช่วงเดือนมกราคม 2.ช่วงเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม และ 3. ช่วงเดือนกันยายน- ตุลาคม ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะเลื่อนเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับกับกลุ่มประเทศอาเซียนจึงไม่ใช่ประเด็น" นายจาตุรนต์ กล่าวและว่าส่วนกรณีที่ห่วงว่าหากให้เปิดเทอมในวันที่ 16 พฤษภาคมเช่นเดิมแล้วจะมีผลกระทบแค่กับนักศึกษาฝึกสอนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่จะไม่มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนการฝึกสอนนั้นได้มีการนำมาพูดคุยกันและเห็นว่าเป็นเพียงปัญหาข้อเดียวฉะนั้นคงจะต้องหาวิธีแก้ไขปัญหากันต่อไป
REF: มติชน